ลวงขาย Vs. ฉ้อโกง ต่างกันอย่างไร? แบบไหนโทษมากกว่า!?!

28 ต.ค. 2564 14:11 , จำนวนผู้เช้าชม : 67581 คน

     การหลอกขายสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็น Facebook, IG, Line, Shopee, Lazada รวมทั้งเว็บไซต์อื่นๆ รู้หรือเปล่าว่า แม้ว่าเหยื่อจะถูกหลอก ถูกโกงเอาเงินไป มีองค์ประกอบเป็น “การหลอกลวง” เหมือนกัน แต่ความผิดของมิจฉาชีพแต่ละรายอาจแตกต่างกันได้! โดยบางรายอาจเข้าข่ายความผิดฐานฉ้อโกง และบางรายก็อาจเข้าข่ายความผิดฐานลวงขาย ซึ่งทางกฎหมาย จะพิจารณาความผิดเหล่านี้จากพฤติการณ์ หรือเจตนาของผู้กระทำความผิดนั่นเอง  

 

แล้วจะแยกได้อย่างไร ว่าเรากำลังถูกฉ้อโกง หรือลวงขาย?

     การลวงขาย คือ การที่ผู้ซื้อและผู้ขายตกลงซื้อขายสินค้ากัน และผู้ซื้อ “ได้รับสินค้า” เรียบร้อยแล้ว แต่สินค้าที่ได้มานั้นไม่เหมือนที่เคยตกลงกันไว้ ทั้งเรื่องของคุณภาพ แหล่งผลิต สภาพสินค้า ปริมาณ ไม่ครบจำนวน และไม่ตรงปก 

 

     "โดยการลวงขาย ถือเป็นความผิด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 271 ผู้ใดขายของโดยหลอกลวงด้วยประการใดๆ ให้ผู้ซื้อหลงเชื่อในแหล่งกำเนิด สภาพ คุณภาพ หรือปริมาณแห่งของนั้นอันเป็นเท็จ ถ้าการกระทำนั้นไม่เป็นความผิดฐานฉ้อโกง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ"

 

     ส่วนการฉ้อโกง คือการหลอกขายสินค้า และผู้ซื้อ “ไม่ได้รับสินค้า” โดยผู้ขายไม่มีเจตนาส่งสินค้าให้ผู้ซื้อตั้งแต่แรก หรือไม่เคยมีสินค้าอยู่จริง แต่เอาภาพสินค้าของคนอื่นมาหลอกขายเพื่อเอาเงินนั่นเอง

 

     "โดยการฉ้อโกง  ถือเป็นความผิด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 ผู้ใดทุจริต หลอกลวงผู้อื่นด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อความจริงซึ่งควรแจ้ง เพื่อให้ได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม หรือทำให้ผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม ทำ ถอน หรือทำลายเอกสารสิทธิ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ"

 

     นอกจากนี้ ผู้กระทำผิดอาจได้รับโทษหนักขึ้น! หากการฉ้อโกงนั้น ถือเป็นการ “ฉ้อโกงประชาชน” หรือการฉ้อโกงที่มีเจตนาแสดงข้อความอันเป็นเท็จ และทำให้เกิดความเสียหายต่อประชาชนทั่วไป ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 343 โดยจะมีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ เท่านั้นยังไม่พอ! ผู้กระทำผิดอาจถูกแจ้งข้อหาเพิ่มเติม ในความผิดฐานนำเข้าข้อมูลอันเป็นเท็จ ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ มาตรา 14 (1) มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 100,000 บาท อีกส่วนหนึ่งด้วย! ซึ่งทางกฎหมายจะพิจารณาแจ้งข้อหาเหล่านี้เพิ่มเติม โดยดูจากจำนวนผู้เสียหายและวิธีในการหลอกลวงประกอบกันครับ 

 

     อย่างไรก็ตาม ในบางกรณีผู้กระทำผิดอาจมีความผิดเข้าข่ายลวงขาย แต่ก็สามารถถูกดำเนินคดีในข้อหาฉ้อโกงได้ เช่น ผู้ซื้อได้ซื้อสินค้ามูลค่า 2,000 บาท ผู้ขายส่งสินค้าให้จริง แต่ได้รับสินค้าเป็นของมูลค่า 20 บาท แบบนี้จะถือว่าผู้ขายมีเจตนาหลอกลวงเพื่อเอาเงินตั้งแต่แรก ไม่ได้มีสินค้านั้นๆ อยู่จริง เป็นต้น 

 

     เพราะฉะนั้นใครที่โดนลวงขาย หรือฉ้อโกงจากการสั่งซื้อของออนไลน์ อย่ามัวนิ่งนอนใจ ควรรีบแจ้งความดำเนินคดี เพื่อเอาผิดตามกฎหมายให้ถึงที่สุดนะครับ เพราะนอกจากเราจะมีโอกาสได้เงินคืนแล้ว ยังถือเป็นการช่วยเหลือสังคม ไม่ปล่อยให้มิจฉาชีพลอยนวล และได้ใจไปทำการหลอกลวงคนอื่นต่ออีกนั่นเอง

 

ขอบคุณข้อมูลจาก

ลวงขาย กับ ฉ้อโกง แตกต่างกันอย่างไร โดยทนายเจมส์, ไทยรัฐออนไลน์ https://www.thairath.co.th/news/society/1883501 

กองปราบปราม https://www.facebook.com/csdthai/posts/1000940727062903/